วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

Node-Red เกริ่นนำ

    ได้ยินเรื่อง IoT (Internet Of Thing) มานานพอควร แต่ก็จินตนาการไม่ออกว่ามันจะเอาไปทำอะไรได้ เห็นว่าจะเอาไปติดตั้งไว้ในตู้เย็น ถ้าของในตู้ถูกใช้ไปถึงจำนวนที่ต้องสั่งซื้อ ตัวคอมพิวเตอร์ในตู้เย็นก็จะส่งคำสั่งซื้อแทนเรา ระบุว่าจะสั่งอะไรเท่าไหร่ ผมก็คิดเอาว่าเราก็เห็นอยู่แล้วว่ามันหมด เราก็สั่งซื้อเองก็ได้ ดูแล้วก็ไม่เห็นจะเป็นประโยชน์ตรงไหน

    ยิ่งนานวัน กระแส IoT ก็ไม่ได้ซาลง กลับมีอะไรต่อมิอะไรเกิดตามกันมาอีกเป็นขบวน อีกสิ่งที่มีมาคู่กัน คือเรื่องของ Cloud Server, Cloud Computing อันนี้ไม่แน่ใจว่า อันไหนมาก่อน แต่ทั้งสองสิ่งเสริมกัน

    ทำไมจึงยกเอาเรื่องของ Node-Red ขึ้นมาเขียน เป็นเหตุผลที่ว่าตัวมันเป็น Middleware ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เป็นทางผ่านเข้าออกกของข้อมูล ตัวมันเองไม่ได้ทำให้เกิด Input และก็ไม่ได้ทำให้เกิด Output แต่จะทำหน้าที่นำเอา Input มาปรับสภาพให้พร้อมที่จะส่งไปยัง output เพื่อเก็บบันทึก แสดงผล ไม่ว่าจะส่งไปที่อีเมล์ ทวิตเตอร์ เก็บข้อมูลลงในไฟล์ แสดงข้อมูลบน IoT device เช่น พยากรณ์อากาศ บนจอ OLED แสดงผลบน web browser

    จากที่เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีนวัตกรรมใหม่ที่พลิกโฉมการสร้าง wifi device ออกมาสู่ตลาด ในราคาที่ถูกมากๆ หลายคนคงคุ้นกับ ESP8266 ปัจจุบันออกมาหลายรุ่นแล้ว โดยส่วนตัวแล้วผมชอบงานอดิเรกเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องทดลองดู สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ผมเห็นการทดลองของเพื่อนๆ ที่ได้นำเสนอในเฟสบุ๊กล้วนน่าสนใจ

    แต่มองดูแล้วเหมือนจะขาดอะไรอยู่ โดยที่ ESP8266 เป็น IoT devices ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพ (ไม่รู้เขียนถูกหรือป่าว) มันสามารถเป็น Input เป็น output ถามว่าจะให้มันทำหน้าที่อื่นๆด้วยได้ไหม ก็ต้องบอกว่าได้ แต่มันดูจะเกินกำลังเกินไป

    สิ่งที่ IoT device ทำได้ไม่ดีนัก ก็คือ การให้บริการข้อมูล การแสดงผลที่ดูสวยงาม การประเมินผลเพื่อแจ้งเตือน ทั้งหมดนี้จึงต้องพึ่งบริการของ Middleware ซึ่งมีอยู่หลายตัว ไม่เฉพาะ Node-Red ที่เป็นพระเอกของเรา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น